การทำบุญ ทำทาน
การทำบุญทำทาน ถ้าพูดถึงการทำบุญทำทาน คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าคือ การตักบาตร บริจาคทรัพย์สิ่งของ และการไปร่วมงานบุญต่างๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นความคิดที่ถูกต้องเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ เพราะตามหลักคำสอนทางพุทธศาสนา แบ่งการทำบุญออกเป็น ๑๐ ประเภท บางประเภทก็ง่ายจนคนคิดไม่ถึง ไม่จำเป็นต้องเสียเงินเสียทอง เพียงมีเจตนาที่ดีเท่านั้น เรามาดูกันดีกว่าว่า การทำบุญทั้ง ๑๐ ประการมีอะไรบ้าง
-
บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน ข้อดีรู้จักกันดี เป็นการทำบุญที่เกิดจากการสละทรัพย์สิน สิ่งของ แต่ขอเพิ่มเติมอีกสักนิดว่า การทำบุญด้วยการบริจาคทานนั้น พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ว่า ควรมีเจตนาที่บริสุทธิ์ ให้ด้วยความปรารถนาดี เพื่อให้ผู้รับได้สิ่งจำเป็นที่ต้องการ และสิ่งของที่ให้ต้องอยู่ ในสภาพที่ใช้งานได้ เช่นบริจาคอาหารที่หมดอายุแล้ว เพราะเห็นว่าของเหลือเยอะ อันนี้ไม่นับว่าบริจาคนะ อันนี้เรียกว่าหาที่ทิ้งของ เว้นแต่ผู้รับรู้อยู่ว่าของเสียแต่ต้องการนำไปเป็นประโยชน์ เช่นไปทำปุ๋ย เป็นต้น และการทำบุญบริจาค ต้องดูความเหมาะสมกับผู้ได้รับด้วย และไม่ควรให้สิ่งของที่เป็นอบายมุข เช่น เหล้า บุหรี่ อันนี้ผิดศีลนะครับ เพราะได้ชื่อว่าสนับสนุนให้คนผิดศีล…
-
บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล ข้อนี้ไม่ต้องเสียเงินเสียทองเพียงประพฤติตนอยู่ในศีล ไม่พาตัวไปมั่วอบายมุข ก็นับว่าได้ทำบุญแล้ว ผู้รักษาศีลจึงถือว่าเป็นผู้ที่ได้ทำบุญทำทานแล้ว ทั้งยังพาตนเอง และคนรอบข้าง ห่างไกลปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากอบายมุขด้วย…
-
บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา ข้อนี้เป็นบุญทาน ที่ได้จากการปฏิบัติ เมื่อทำเจริญภาวนาจิตใจสงบ ในขณะที่จิตใจสงบ เราก็ไม่ละเมิดศีลข้อใด ไปพร้อมๆกับการระงับ ความโลภ ความโกรธ ความหลง นับว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง และเมื่อเราเจริญภาวนา คิดแต่สิ่งที่ดี ทั้งกับตนเอง และผู้อื่น จึงเป็นการทำบุญ เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง การเจริญภาวนานอกจากหมายถึง การนั่งสมาธิ การสวดมนต์ในห้องพระ หรือที่วัดแล้ว เราสามารถทำในช่วงที่ว่างระหว่างวันได้ วันละนิดวันละหน่อย จะทำให้จิตใจแจ่มใสเพิ่มขึ้นไม่น้อย
-
บุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน แก่บุคคลทั้งหลาย เป็นการทำบุญที่หลายคนคาดไม่ถึง ว่าเป็นการทำบุญชนิดหนึ่ง พออธิบายได้ว่า การอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นการลดทิฐิ ลดการยึดติดในตัวตน ให้ความสำคัญแก่บุคคลรอบข้าง และการอ่อนน้อมถ่อมตนกับบุคคลอื่น ย่อมได้รับความเอ็นดู ได้รับความพอใจกลับมา การอ่อนน้อมถ่อมตนจึงเป็นหนึ่งในมงคล ๓๘ ประการด้วย
-
บุญสำเร็จด้วยการช่วยเหลือขวนขวายในการงานที่ชอบ ทั้งด้านทรัพย์ ด้านแรงกาย สติปัญญา หรือ แม้แต่การให้กำลังใจ ที่คอยช่วยเหลือให้บุคคลผ่านพ้นปัญหาอุปสรรค หรือภาระกิจต่างๆไปได้ด้วยดี ด้วยวิธีที่ถูกที่ควร ความช่วยเหลือดังกล่าวมาแล้วนั้นแสดงถึง การมีความรัก ความเมตตา และความปราถนาดี ต่อบุคคลอื่น
-
บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ บุญชนิดนี้คนเก่าคนแก่ทำกันเป็นประจำ เรียกว่าการโมทนาบุญ เมื่อทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ก็ไม่ยึดติดกับการทำบุญ หวงแหนบุญไว้กับตนเอง จนเกิดความตระหนี่บุญ คล้ายๆ กับความตระหนี่ทรัพย์นะแหละครับ การให้ส่วนบุญนี้สามารถแบ่งให้ได้ ทั้งกับผู้ล่วงลับไปแล้ว และผุ้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งที่จริงแล้วจะเรียกว่าการแบ่งบุญก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะเมื่อเราโมทนาบุญให้กับผู้อื่นแล้ว บุญที่เราทำก็ไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย กับเพิ่มขึ้นจากการทำบุญนี้อีกด้วย
-
บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาบุญ คือแม้ตนเองไม่ได้ประกอบการทำบุญขึ้นมาเอง แต่ได้ไปพบ ได้รับทราบว่ามีผู้ทำบุญทาน ทำความดี การอนุโมทนา หรือร่วมยินดีด้วย ไม่ถือว่าเป็นการแย่งชิงบุญของคนอื่น มาเป็นของเรานะครับ แต่เป็นการเพิ่มบุญให้กับตนเอง และผู้ประกอบบุญนั้นๆ
-
บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม ศึกษาธรรม เช่นการอ่านหนังสือธรรมะทำให้เกิดความคิดเห็นที่ถูกครรลอง ครองธรรมขจัดความสงสัย เกิดจิตใจที่ผ่องใส พบวิธีคิด วิธีพูด วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง พาชีวิตให้เจริญ ทั้งทางด้านจิตใจ และชีวิตความเป็นอยู่
-
บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม ทั้งการแสดงธรรมด้วยตนเอง หรือผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นเรื่องธรรมะ ที่เกิดจากความปรารถนาดี เจตนาที่ดี การให้ธรรมเป็นทาน เป็นการชี้ทางแก้ปัญหา หาทางออกที่ถูกที่ควรให้แก่ผู้รับธรรมะนั้นๆ ทำให้บุคคลนั้นๆ ประพฤติปฏิบัติ ตามหลักธรรมคำสอน ทำให้บุญสำเร็จขึ้นอีกมากมาย จึงนับว่าการให้ธรรมะเป็นการให้ทานที่ยิ่งใหญ่ประเภทหนึ่ง
-
บุญสำเร็จด้วยการทำความคิดเห็นของตนเองให้ชอบ เชื่อมั่นในสิ่งที่ถูกที่ควร เช่น เชื่อว่าการให้ทาน มีผล พ่อแม่มีคุณ กระทำดี กระทำชั่ว มีผล เป็นต้นทำให้ตนเองใช้ชีวิตตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า